ระยะของฟันผุมีอะไรบ้าง - คอลเกต

ประเภทของฟันผุมีอะไรบ้าง

ฟันผุ เราทุกคนล้วนเคยเป็นมาก่อน หรือเคยกังวลว่าทันตแพทย์จะเจอฟันผุซี่ใหม่ไหมทุกครั้งที่ตรวจช่องปาก และแม้ว่าฟันผุจะไม่ใช่เรื่องสนุกที่จะต้องรับมือ แต่การทำความเข้าใจว่าฟันผุนั้นมีประเภทใดบ้างและจะป้องกันได้อย่างไรนั้นอาจมีประโยชน์ เพราะเมื่อรู้ข้อมูลเกี่ยวกับฟันผุประเภทต่างๆ แล้ว คุณจะสามารถสื่อสารกับทันตแพทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และรู้สึกดีขึ้นเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพช่องปาก

เชื่อหรือไม่ว่ากว่า 92% ของผู้ใหญ่ชาวอเมริกันที่มีอายุระหว่าง 20 ถึง 64 ปี มีฟันแท้ผุ และในปัจจุบัน 26% มีฟันผุที่ไม่ได้รับการรักษา กล่าวคือ ฟันผุทั้งหมดนั้นไม่ใช่ว่าจะเหมือนกัน ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมจึงใช้ระบบการจำแนกประเภทฟันผุเฉพาะเพื่อทำการประเมิน โดยแบ่งฟันผุออกเป็น 6 ประเภทตามประเภทของฟันและตำแหน่งของฟันผุ รวมถึงการแบ่งออกเป็นสี่ระดับเพื่ออธิบายความรุนแรงของฟันผุ

ระบบการจำแนกประเภทฟันผุ

ฟันเป็นรู หรือที่เรามักเรียกกันว่าฟันผุ เกิดจากการสลายตัวของเคลือบฟัน ซึ่งเป็นผลมาจากแบคทีเรียบนฟันที่สลายน้ำตาลและผลิตกรดที่ทำลายเคลือบฟัน แล้วประเภทต่างๆ ของฟันผุมีอะไรบ้าง

ประเภท I
  • ประเภทนี้ใช้นิยามฟันผุที่เกิดขึ้นบนผิวฟันที่ทันตแพทย์ของคุณสามารถมองเห็นได้ง่าย ซึ่งรวมถึงฟันผุบนผิวฟันที่ใช้บดเคี้ยวอาหารด้านหลัง เช่น ฟันกรามและฟันกรามน้อย ตลอดจนฟันผุบนผิวด้านหน้าหรือด้านหลังของฟันหน้า
ประเภท II
  • เกิดฟันผุบนผิวระหว่างฟันกรามกับฟันกรามน้อย และไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า
ประเภท III
  • ฟันผุประเภทนี้เกิดฟันผุขึ้นบนผิวระหว่างฟันหน้า แต่ไม่รวมขอบฟันด้านตัด และคล้ายกับประเภท II การจำแนกประเภทฟันผุนี้ไม่สามารถมองเห็นได้
ประเภท IV
  • ฟันผุประเภทนี้เกิดฟันผุขึ้นบนผิวระหว่างฟันหน้าเช่นกัน แต่รวมถึงขอบฟันด้านตัดด้วย
ประเภท V
  • ฟันผุปรากฏที่ด้านหน้าหรือด้านหลังของฟันหน้าหรือฟันหลัง บริเวณใกล้กับขอบเหงือก
ประเภท VI
  • ฟันผุประเภทนี้พบฟันผุที่ผิวฟันด้านบน ไม่ว่าจะเป็นขอบฟันหน้าด้านตัดหรือปุ่มฟันหลังด้านบน

เมื่อคุณไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจช่องปาก พวกเขาจะใช้เครื่องมือช่วยตรวจหาจุดอ่อนบนฟันของคุณที่มองเห็นได้ด้วยตา นอกจากนี้ ทันตแพทย์อาจต้องใช้ภาพถ่ายเอ็กซเรย์ปัจจุบัน (หรือถ่ายภาพเอ็กซเรย์ใหม่) เพื่อตรวจหาฟันผุ

การกำหนดความรุนแรงของฟันผุ

ฟันผุถูกจำแนกออกเป็น ระดับเริ่มต้น ระดับปานกลาง ระดับสูงหรือระดับรุนแรง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการลุกลามของรอยผุ แต่เพื่อให้เข้าใจถึงประเภทเหล่านี้ คุณควรจะรู้เกี่ยวกับโครงสร้างของฟันบ้างเล็กน้อย ชั้นนอกของฟันประกอบด้วยเคลือบฟันที่มีแคลเซียม ซึ่งช่วยปกป้องฟัน ส่วนด้านในที่เรียกว่าเนื้อฟัน ที่กลางตัวฟันคือโพรงประสาทฟัน ซึ่งถือเป็นชั้นในสุดที่ประกอบด้วยเส้นประสาท เส้นเลือด และเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน

การใช้ระบบที่สรุปไว้ข้างต้น ทันตแพทย์จะประเมินฟันผุโดยพิจารณาจากระดับความเสียหายที่ทะลุผ่านชั้นเนื้อเยื่อเหล่านี้:

ระดับเริ่มต้น
  • ฟันผุเหล่านี้ทะลุผ่านเคลือบฟันไปยังไม่ถึงครึ่งทาง
ระดับปานกลาง
  • ฟันผุเหล่านี้ทะลุผ่านเคลือบฟันไปมากกว่าครึ่งทาง แต่ยังไม่ถึงรอยต่อระหว่างเคลือบฟันกับเนื้อฟัน (DEJ) ซึ่งเป็นบริเวณที่เคลือบฟันมาบรรจบกับเนื้อฟัน
ระดับสูง
  • ฟันผุเหล่านี้ทะลุผ่าน DEJ แต่ยังไม่ถึงครึ่งทางที่จะไปโพรงประสาทฟัน
ระดับรุนแรง
  • ฟันผุนี้ได้แทรกซึมผ่านเคลือบฟันและเนื้อฟัน จนเลยครึ่งทางที่จะไปโพรงประสาทฟัน

การตรวจหาในระยะเริ่มต้น และรักษาฟันผุด้วยการอุดฟันสามารถป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงขึ้นหรือการสูญเสียฟันในอนาคตได้

การป้องกันฟันผุ

แม้ว่าฟันผุเป็นปัญหาเรื้อรังที่พบมากที่สุดในเด็กและผู้ใหญ่ แต่สิ่งสำคัญคือต้องจำไว้ว่าฟันผุสามารถป้องกันได้ และถ้าอยากจะป้องกันฟันผุ โรงพยาบาลศิริราช ก็มีเคล็ดลับบางประการเกี่ยวกับสิ่งที่คุณและครอบครัวสามารถทำได้มาบอก:

  • แปรงฟันวันละสองครั้งด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ และใช้ไหมขัดฟันทุกวัน
  • พบผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมเป็นประจำเพื่อตรวจสุขภาพและทำความสะอาดช่องปาก
  • เปลี่ยนจากการทานอาหารที่มีน้ำตาลและขนมขบเคี้ยวไปเป็นตัวเลือกที่มีคุณค่าทางโภชนาการและสมดุลมากขึ้น
  • สอบถามทันตแพทย์ของคุณเกี่ยวกับการรักษาเสริมฟลูออไรด์

พอคุ้นเคยกับประเภทของฟันผุแล้ว คุณก็จะรู้สึกมีกำลังใจขึ้นเมื่อไปพบทันตแพทย์ เพราะการทำความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาพช่องปากถือเป็นขั้นตอนแรกในการปรับปรุงสุขภาพช่องปากของคุณ และถึงแม้การรู้เกี่ยวกับฟันผุและรับรู้ว่าฟันผุธรรมดาแค่ไหนจะเป็นเรื่องที่ดี แต่อย่าลืมว่าด้วยการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ การดูแลอย่างสม่ำเสมอ และการไปพบทันตแพทย์ จะช่วยให้คุณสามารถป้องกันฟันผุได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความสุขไปกับรอยยิ้มของคุณ!

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจและให้ความรู้ในเรื่องสุขภาพช่องปากทั่วไป ไม่ได้ใช้เพื่อแทนคำแนะนำ การวินิจฉัย หรือการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรม หากคุณมีคำถามเกี่ยวกับอาการหรือการรักษาทางการแพทย์ โปรดขอคำแนะนำจากทันตแพทย์หรือผู้ให้บริการด้านสุขภาพที่มีคุณสมบัติเหมาะสม