Badge field

ฟลูออไรด์ทำอะไรได้บ้าง?

Published date field Last Updated:

รอยยิ้มนั้นมีความหมายนับพัน แต่การซ่อนรอยยิ้มกลับสื่ออะไรได้มากกว่านั้น หากคุณไม่มั่นใจในสุขภาพช่องปาก ก็ไม่ได้เป็นเรื่องแปลกอะไรหากไม่อยากเผยให้โลกเห็นฟันที่ขาวสะอาดของคุณ คนส่วนใหญ่เข้าใจถึงความสำคัญของการแปรงฟันและการใช้ไหมขัดฟันเป็นอย่างดี ซึ่งแม้ว่านั่นจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่ก็ไม่อาจแก้ปัญหาสุขภาพฟันไปได้ทั้งหมด การดูแลฟันด้วยฟลูออไรด์เป็นส่วนสำคัญในกระบวนการดูแลรักษาช่องปาก และนี่คือสิ่งที่คุณควรรู้ หากเคยมีความสงสัย: ฟลูออไรด์ช่วยพัฒนาสุขภาพช่องปากของคุณอย่างไรได้บ้าง?

ฟลูออไรด์คืออะไร และทำงานอย่างไร

ฟลูออไรด์คืออะไร?

หากคุณคิดว่าฟลูออไรด์คือสารเคมีสังเคราะห์ที่ผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปากต่างๆ คุณก็ไม่ใช่คนเดียวที่คิดอย่างนั้น ในความเป็นจริงแล้ว ฟลูออไรด์เป็นแร่ธาตุที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ซึ่งสามารถพบได้ทั่วไปในแผ่นเปลือกโลก อีกทั้งอาหารบางชนิด และน้ำก็มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ด้วยเช่นกัน ฟลูออไรด์มักจะถูกนำไปเติมลงในน้ำดื่มสาธารณะที่ไม่มีฟลูออไรด์ตามธรรมชาติในปริมาณที่เพียงพอต่อการเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับฟัน หรือลดอาการฟันผุ

ประสิทธิภาพของฟลูออไรด์ในการป้องกันฟันผุถูกค้นพบในช่วงปี 1930 โดยนักวิจัยพบว่าเด็กที่ดื่มน้ำที่มีส่วนผสมฟลูออไรด์ตามธรรมชาติมีอัตราฟันผุน้อยกว่าผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ที่ไม่มีฟลูออไรด์ผสมอยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติ และงานศึกษาวิจัยต่างๆ ยังได้แสดงให้เห็นอย่างต่อเนื่องว่า เมื่อมีการเติมฟลูออไรด์ลงในน้ำดื่มสาธารณะ ปัญหาฟันผุก็ลดลงตามไปด้วย

ประสิทธิภาพในการป้องกันฟันผุของฟลูออไรด์ ทำให้ทันตแพทยสมาคมอเมริกัน องค์การอนามัยโลก และสมาคมการแพทย์อเมริกัน รวมถึงอีกหลายๆ องค์กรให้การสนับสนุนการผสมฟลูออไรด์ในแหล่งน้ำ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาฟันผุลงได้ โดยทันตแพทยสมาคมอเมริกัน (ADA) ถึงกับเรียกวิธีการนี้ว่าเป็น "การต่อสู้กับฟันผุโดยธรรมชาติ" เลยทีเดียว

"วิธีการทำงาน" ของฟลูออไรด์อาจฟังดูเป็นเรื่องทางเทคนิคไปสักหน่อย แต่เรามาเริ่มกันเลยดีกว่า ฟลูออไรด์จะทำงานในระหว่างกระบวนการเสริมแร่ธาตุและการสูญเสียแร่ธาตุ ซึ่งมักเกิดขึ้นเป็นปกติในช่องปาก กระบวนการสูญเสียแร่ธาตุจะเริ่มต้นขึ้นโดยแบคทีเรียที่อยู่ในคราบจุลินทรีย์บนผิวฟัน แบคทีเรียในช่องปากกินน้ำตาล และคาร์โบไฮเดรตชนิดอื่นๆ เป็นอาหาร และทำให้น้ำลายมีความเป็นกรด กัดกร่อนเคลือบฟันให้อ่อนแอลง ฟลูออไรด์ทำหน้าที่เสริมสร้างแร่ธาตุในเคลือบฟันให้มีความแข็งแรงทนทานต่อกรดที่เกิดในช่องปากในช่วงกระบวนการสูญเสียแร่ธาตุ

ในช่วงเวลาอื่น เมื่อน้ำลายคลายความเป็นกรดลง ฟลูออไรด์จะช่วยเติมแคลเซียมและไอออนของฟอสเฟตที่ทำให้ฟันแข็งขึ้น และได้รับการป้องกันมากขึ้น โดยกระบวนการนี้มีชื่อเรียกว่า กระบวนการเสริมแร่ธาตุ และการสูญเสียแร่ธาตุมากเกินไปโดยไม่มีการเติมแร่ธาตุใหม่มาทดแทน สามารถนำไปสู่อาการฟันผุได้

ประโยชน์ของฟลูออไรด์มีอะไรบ้าง

ฟลูออไรด์ช่วยรักษาสุขภาพฟันได้ 2 ประการ เมื่อเด็กๆ รับประทานหรือดื่มฟลูออไรด์ในปริมาณน้อย ฟลูออไรด์จะเข้าไปในเส้นเลือดและกลายเป็นส่วนที่ช่วยพัฒนาฟันแท้ของพวกเขา นอกจากนี้ ฟลูออไรด์ยังกลายไปเป็นส่วนหนึ่งของน้ำลาย และช่วยเสริมความแข็งแรงของฟันจากภายนอก ซึ่งจะทำให้กรดทำลายเคลือบฟันได้น้อยลง กระบวนการนี้ช่วยให้ฟันแข็งแรง และในขณะเดียวกันก็ยังช่วยป้องกันอาการฟันผุและอาการเสียวฟันได้อีกด้วย

แหล่งกำเนิดของฟลูออไรด์:

ธาตุฟลูออรีน

ฟลูออรีนคืออะไร?ได้เวลารับแร่ธาตุกันแล้ว ฟลูออรีนเป็นแร่ธาตุชนิดหนึ่ง และตามที่ราชสมาคมเคมี (RSC) ได้ชี้แจงไว้ว่าแร่ฟลูออรีนเป็นแร่ที่ทำปฏิกิริยาได้ง่ายมาก ซึ่งทำให้เป็นแร่ธาตุที่สามารถรวมตัวเป็นสารประกอบได้ง่ายอีกด้วย โดยหนึ่งในสารประกอบที่เป็นที่รู้จักกันดีที่สุดของฟลูออรีน ก็คือ ฟลูออไรด์นั่นเอง หมายความว่าฟลูออไรด์เป็นส่วนประกอบธรรมชาติที่อยู่ในยาสีฟันผสมฟลูออไรด์สารประกอบอื่นของฟลูออไรด์ยังรวมไปถึงแคลเซียมฟลูออไรด์ โซเดียมฟลูออไรด์ โซเดียมโมโนฟลูออโรฟอสเฟต และสแตนนัสฟลูออไรด์ (บางครั้งเรียกว่าทินฟลูออไรด์หรือฟลูออไรด์ตะกั่ว) โดยโซเดียมฟลูออไรด์ และสแตนนัสฟลูออไรด์เป็นแร่ธาตุสองชนิดที่มักจะถูกใส่ในยาสีฟัน

ฟลูออไรด์เสริมสร้างความแข็งแรงให้กับฟันได้อย่างไร?

เมื่อใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผสมสารฟลูออไรด์ เช่น ยาสีฟัน สารฟลูออไรด์นั้นจะไปตกค้างอยู่ที่น้ำลายของคุณ และเมื่อฟันถูกเคลือบด้วยน้ำลายดังกล่าว เคลือบฟัน ​(พื้นผิวชั้นนอกสุดของฟัน) ก็จะดูดซับฟลูออไรด์เข้าไป เมื่อถึงขั้นนี้ ฟลูออไรด์ก็จะประสานกับแคลเซียมและฟอสเฟตที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติในเคลือบฟัน กลายเป็นฟลูโออาพาไทต์ ซึ่งเป็นชั้นเคลือบแข็งที่ทนต่อการผุกร่อนและช่วยป้องกันฟันผุได้อีกด้วย

ฟลูออไรด์ปลอดภัยหรือไม่?

ฟลูออไรด์นอกจากจะปลอดภัยแล้วยังเป็นสารที่มีประสิทธิภาพมาก เมื่อใช้งานอย่างเหมาะสมและในปริมาณที่พอดี แต่การรับฟลูออไรด์มากเกินไป ก็อาจก่อให้เกิดผลเสียได้เช่นกัน หลังจากการวิจัยมานานนับสิบปี เราพบว่าความเสี่ยงหลักเกี่ยวกับการได้รับฟลูออไรด์มากเกินไปคือ การเกิดฟันตกกระ ซึ่งเกิดได้ในเด็กที่รับฟลูออไรด์มากเกินไปเป็นระยะเวลานานเด็กที่มีภาวะฟันตกกระจะมีจุดหรือเส้นสีขาวบนผิวฟัน และในกรณีที่รุนแรง เคลือบฟันจะเป็นสีน้ำตาลหรือเทาได้ เนื่องจากระบบแหล่งน้ำที่ผสมฟลูออไรด์ทั้งหมดในประเทศพัฒนาแล้วได้รับการตรวจสอบและควบคุมให้อยู่ในระดับเหมาะสมอยู่เสมอ ส่วนใหญ่ภาวะฟันตกกระจึงเกิดขึ้นจากการที่เด็กกลืนฟลูออไรด์ในยาสีฟันเข้าไปมากเกินไป ด้วยเหตุนี้เอง จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องแนะนำดูแลเด็กในระหว่างการแปรงฟันเพื่อให้แน่ใจว่าเด็กๆ จะบ้วนยาสีฟันทิ้งเมื่อแปรงฟันเสร็จ การเก็บฟลูออไรด์แบบเม็ดให้พ้นมือเด็กก็เป็นเรื่องที่ควรทำเช่นกัน คุณสามารถปรึกษาทันตแพทย์ให้ช่วยแนะเกี่ยวกับวิธีที่ดีที่สุดในการดูแลบุตรหลานของคุณได้

ทำไมฟลูออไรด์ถึงปลอดภัย?

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ได้ยืนยันว่ามีการเก็บบันทึกข้อมูลด้านความปลอดภัย และประโยชน์ของฟลูออไรด์ไว้เป็นอย่างดี และจนถึงปัจจุบันนี้ ก็ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่บอกว่าการรับฟลูออไรด์ในปริมาณที่เหมาะสมจะก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพได้ ในความเป็นจริงแล้ว หลักฐานต่างๆ แสดงให้เห็นอย่างสอดคล้องกันว่าปริมาณฟลูออไรด์ที่อยู่ในยาสีฟัน และน้ำประปาทั่วไปนั้นมีความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพดีอยู่แล้วนอกเหนือจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ที่ให้การส่งเสริมประโยชน์ของฟลูออไรด์แล้ว ตามข้อมูลที่ทันตแพทยสมาคมอเมริกัน (ADA) ได้เปิดเผยนั้นยังมีองค์กรมากกว่า 125 แห่งทั่วโลกที่ตระหนักถึงความปลอดภัยและคุณค่าของฟลูออไรด์ องค์กรเหล่านี้รวมถึงทันตแพทยสมาคมอเมริกัน (ADA), แพทยสมาคมอเมริกัน และองค์การอนามัยโลกด้วย

การรักษาด้วยฟลูออไรด์ และการเสริมฟลูออไรด์

การรักษาด้วยฟลูออไรด์

คุณมีทางเลือกสองสามวิธีในการรักษาด้วยฟลูออไรด์ ผลิตภัณฑ์ฟลูออไรด์แบบใช้เฉพาะที่ ซึ่งใช้ป้ายลงบนฟันโดยตรง รวมไปถึงยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก และการรักษาด้วยฟลูออไรด์โดยผู้เชี่ยวชาญในสถานทันตกรรมของคุณ ถึงแม้ว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะอยู่ในปากเป็นระยะเวลาสั้นๆ แต่สามารถทำให้ระดับฟลูออไรด์ในช่องปากคงอยู่ในระดับสูงเป็นเวลาหลายชั่วโมงหลังการใช้งานได้ถ้าคุณมีฟันที่แข็งแรงอยู่แล้ว ส่วนผสมของฟลูออไรด์ในน้ำดื่ม และยาสีฟันก็น่าจะเพียงพอต่อความต้องการในชีวิตประจำวัน แต่ถ้าน้ำประปาที่ใช้หรือน้ำขวดที่ดื่มไม่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์เลย ทันตแพทย์ของคุณอาจจะแนะนำการใช้ฟลูออไรด์เพิ่มเพื่อให้มั่นใจได้ว่าคุณจะได้รับการปกป้องตามที่ควรได้

การรักษาด้วยฟลูออไรด์โดยผู้เชี่ยวชาญ ทำได้โดยการป้ายเจล โฟม หรือเคลือบลงไปบนผิวฟัน ซึ่งฟลูออไรด์ที่ใช้ในการรักษานี้จะมีความเข้มข้นสูงกว่าฟลูออไรด์ปกติในยาสีฟัน หรือน้ำยาบ้วนปากทั่วไป หรือที่สั่งโดยทันตแพทย์ และควรได้รับการดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น

ฟลูออไรด์เสริม

หากคุณเป็นกังวลว่าลูกๆ อาจไม่ได้รับฟลูออไรด์ที่เพียงพอ อาจปรึกษากุมารแพทย์หรือทันตแพทย์เพื่อสั่งฟลูออไรด์เสริมได้ ฟลูออไรด์เสริมจะใช้ได้ดีที่สุดกับเด็กอายุระหว่าง 6 เดือนจนถึง 16 ปีที่ไม่ได้ดื่มน้ำผสมฟลูออไรด์ โดยมีทั้งแบบน้ำสำหรับเด็กเล็ก และแบบเม็ดสำหรับเด็กโตและเด็กวัยรุ่นทันตแพทย์อาจสั่งน้ำยาบ้วนปากฟลูออไรด์และฟลูออไรด์เจลให้ หากลูกๆ ของคุณมีความจำเป็นต้องได้รับฟลูออไรด์เพิ่มเติมนอกเหนือจากผลิตภัณฑ์ผสมฟลูออไรด์ทั่วๆไป และไม่ว่าจะใช้แนวทางไหน เราขอแนะนำให้ดูแลลูกๆ ของคุณใช้ฟลูออไรด์ตามคำแนะนำเท่านั้น และควรเก็บผลิตภัณฑ์เหล่านี้ให้พ้นมือเด็ก

สุขภาพช่องปากที่ดีเริ่มต้นจากการวางแผนที่ดี นั่นหมายถึงการแปรงฟันวันละสองครั้งและใช้ไหมขัดฟันทุกวันเพื่อกำจัดคราบที่สะสมอยู่ระหว่างซอกฟัน และอย่าลืมไปทำความสะอาดฟันกับทันตแพทย์ตามกำหนดเป็นประจำ

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจและให้ความรู้ในเรื่องสุขภาพช่องปากทั่วไป ไม่ได้ใช้เพื่อแทนคำแนะนำ การวินิจฉัย หรือการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรม หากคุณมีคำถามเกี่ยวกับอาการหรือการรักษาทางการแพทย์ โปรดขอคำแนะนำจากทันตแพทย์หรือผู้ให้บริการด้านสุขภาพที่มีคุณสมบัติเหมาะสม