ร่องลึกปริทันต์ - คอลเกต

ร่องลึกปริทันต์คืออะไร?

ถ้าคุณมีสุขภาพช่องปากที่ดี ก็คงไม่ได้คิดถึงเหงือกเท่าไร เพราะเหงือกก็แนบตัวฟันโดยไม่มีอาการเจ็บใดๆ แต่ถ้ามีร่องลึกลงไประหว่างเนื้อเยื่อเหงือกกับฟัน นั่นเป็นอาการแสดงของโรคเหงือก โรคเหงือกจะลุกลามจนทำให้ร่องรอบฟันลึกยิ่งขึ้น เรียกว่าร่องลึกปริทันต์ และถ้าไม่ได้รับการรักษา ร่องเหงือกนี้จะทำให้คุณสูญเสียฟันได้ แต่หากได้รับการวินิจฉัยและรักษาในระยะเริ่มแรก คุณจะยังมีฟันใช้ไปตลอดชีวิต มาเรียนรู้กันว่าร่องลึกปริทันต์เกิดขึ้นได้อย่างไร ถูกวินิจฉัยได้อย่างไร มีทางเลือกอะไรบ้างในการรักษา รวมถึงวิธีป้องกันที่คุณทำได้เองที่บ้าน

ร่องลึกปริทันต์เกิดขึ้นได้อย่างไร?

เมื่อแบคทีเรียในช่องปากและไม่ถูกกำจัดออกไปอย่างสม่ำเสมอ จะมีการสะสมเป็น คราบจุลินทรีย์ (แผ่นคราบชีวภาพ) บนฟัน โดยเฉพาะบริเวณรอบขอบเหงือกที่ติดกับคอฟัน ถ้าคราบจุลินทรีย์นี้ยังอยู่ จะแข็งขึ้นกลายเป็นหินปูน ที่แปรงฟันไม่สามารถกำจัดออกได้ ต้องให้ทันตแพทย์หรือทันตาภิบาลกำจัดหินปูนออกให้ มิฉะนั้น พิษจากแบคทีเรียจะสะสมอยู่ในหินปูนที่แข็งขึ้นและทำให้เนื้อเยื่อเหงือกอักเสบ ลักษณะเช่นนี้เรียกว่า เหงือกอักเสบ เป็นระยะเริ่มแรกของโรคปริทันต์

อาการอักเสบและบวมจากคราบจุลินทรีย์และหินปูนส่งผลให้เกิดร่องลึกระหว่างเหงือกกับฟัน เมื่อเหงือกไม่ยึดกับฟัน เหงือกที่อักเสบอยู่จะกลายเป็นแหล่งสะสมคราบจุลินทรีย์และหินปูน ทำให้ร่องปริทันต์ลึกลงไปอีกและส่งผลเสียต่อกระดูกโดยรอบฟัน สิ่งที่เกิดขึ้นเปรียบเหมือนเสื้อคอเต่าที่คอเสิ้อเริ่มยืดและไม่แนบกับคอของคุณ

การวินิจฉัยโรคปริทันต์

สมมุติว่าคุณมีอาการที่แสดงถึงโรคเหงือก เช่น มีกลิ่นปาก เลือดออกตามไรฟัน เหงือกแดง บวม หรือเนื้อเยื่อเหงือกร่น ควรต้องพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปาก นอกจากตรวจสภาพเหงือกโดยทั่วไปแล้ว ทันตแพทย์จะวัดความลึกร่องเหงือกรอบฟันแต่ละซี่ด้วยเครื่องมือตรวจวัดความลึกของร่องลึกปริทันต์ เพื่อวินิจฉัยเป็น โรคปริทันต์ที่มีความรุนแรงเพียงใด

ทันตแพทย์จะวัดความลึกของร่องเหงือก 6 ตำแหน่งรอบฟันแต่ละซี่เพื่อประเมินสภาวะปริทันต์ให้ทั่ว สถาบันวิจัยทางทันตกรรมและกะโหลกศีรษะแห่งชาติ (NIDCR) นิยามสิ่งที่แสดงถึงโรคปริทันต์ว่า เป็นฟันที่มีร่องปริทันต์อย่างน้อยหนึ่งตำแหน่งที่ลึก 4 มิลลิเมตรขึ้นไป หรือสูญเสียเนื้อเยื่อยึด 3 มิลลิเมตรขึ้นไป เมื่อเนื้อเยื่อเหงือกที่ยึดกับฟันถูกทำลาย เหงือกจะร่นลง สูญเสียกระดูกรองรับฟัน ทำให้ฟันเริ่มโยก

วิธีกำจัดร่องลึกปริทันต์

เช่นเดียวกับปัญหาสุขภาพช่องปากอื่นๆ ขั้นตอนแรกในการรักษาโรคเหงือกคือ ไปพบทันตแพทย์เพื่อทำความสะอาดฟัน หรือที่เรียกว่า การขูดหินปูนและเกลารากฟัน เพื่อกำจัดหินปูนและคราบจุลินทรีย์ที่สะสมอยู่ การทำเช่นนี้ทำให้เหงือกมีโอกาสกลับมายึดรอบฟันอีกครั้ง หากยังสูญเสียกระดูกไปไม่มาก นี่เป็นการรักษาอย่างเดียวที่จำเป็น อย่างไรก็ตาม หากคุณมีร่องลึกปริทันต์อยู่ ทันตแพทย์จะแนะนำให้รับการผ่าตัดเพื่อปรับสภาพเนื่อเยื่อปริทันต์

นอกจากการขูดหินปูนและเกลารากฟัน การรักษาที่ไม่ต้องผ่าตัดอีกวิธีหนึ่งคือการใช้ยาปฏิชีวนะชนิดทาหรือรับประทานเพื่อควบคุมการติดเชื้อ หากจำเป็นต้องได้รับการรักษาที่ซับซ้อนกว่านี้ มีการทำศัลย์ปริทันต์หลายวิธีที่กำจัดการติดเชื้อและลดความลึกร่องปริทันต์ได้ เช่น การผ่าตัดตกแต่งเหงือก การปลูกถ่ายเนื้อเยื่อเหงือกหรือกระดูก

วิธีการป้องกันที่ทำได้ด้วยตนเอง

โรคปริทันต์เป็นโรคที่ป้องกันได้ โดยการพบทันตแพทย์เป็นประจำและดูแลสุขภาพช่องปากอย่างสม่ำเสมอ ก็ลดโอกาสการเกิดร่องปริทันต์ได้แล้ว เหงือกสุขภาพดีจะมีร่องเหงือกตื้น ทำความสะอาดได้ง่าย วัดความลีกได้เพียง 1 ถึง 3 มิลลิเมตร วิธีการดูแลให้ร่องเหงือกตื้นและทำความสะอาดได้ง่าย:

  • ใช้แปรงสีฟันขนนุ่มทำความสะอาดฟันอย่างน้อยวันละสองครั้ง แปรงเบาๆ บริเวณขอบเหงือกที่เป็นแหล่งสะสมคราบจุลินทรีย์
  • เปลี่ยนแปรงสีฟันทุก 3 ถึง 4 เดือน หรือเมื่อขนแปรงเริ่มบาน
  • ถ้ารู้สึกว่าหินปูนสะสมเร็ว ให้ใช้ยาสีฟันที่ควบคุมการเกิดหินปูน
  • แปรงบริเวณซอกฟันอย่างน้อยวันละครั้ง ซึ่งสำคัญพอๆ กับการแปรงฟันเพื่อป้องกันโรคเหงือก โดยการใช้ไหมขัดฟัน ไหมขัดฟันพลังน้ำ หรือเครื่องมือทำความสะอาดซอกฟันชนิดอื่นๆ
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของทันตแพทย์อย่างเคร่งครัดเกี่ยวกับการพบทันตแพทย์เพื่อทำความสะอาดและตรวจสภาพเหงือก ทันตแพทย์อาจแนะนำให้คุณมาทำความสะอาดบ่อยครั้งขึ้นหลังจากรักษาร่องลึกปริทันต์ในกรณีที่เป็นชนิดรุนแรง

การวินิจฉัยและรักษาโรคปริทันต์ในระยะเริ่มต้นสามารถกำจัดร่องลึกปริทันต์ได้ และช่วยควบคุมไม่ให้ลุกลามจนต้องสูญเสียกระดูก โชคดีที่มีวิธีมากมายที่คุณทำเองได้เพื่อป้องกันโรคปริทันต์ แต่หากต้องรักษา ก็มีทางเลือกมากมายทั้งวิธีที่ไม่ต้องผ่าตัดและวิธีทางศัลย์ปริทันต์ ขึ้นอยู่กับระยะเริ่มแรกของโรคเหงือกหรือระยะที่ต้องอาศัยการผ่าตัด การใส่ใจดูแลสุขภาพช่องปากอย่างสม่ำเสมอตลอดชีวิตเป็นสิ่งสำคัญกับรอยยิ้มของคุณในอนาคต

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจและให้ความรู้ในเรื่องสุขภาพช่องปากทั่วไป ไม่ได้ใช้เพื่อแทนคำแนะนำ การวินิจฉัย หรือการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรม หากคุณมีคำถามเกี่ยวกับอาการหรือการรักษาทางการแพทย์ โปรดขอคำแนะนำจากทันตแพทย์หรือผู้ให้บริการด้านสุขภาพที่มีคุณสมบัติเหมาะสม