รากฟันเทียมเจ็บไหม - คอลเกต
Badge field

อาการเจ็บหลังใส่รากฟันเทียมเป็นเรื่องปกติหรือไม่

การใส่รากฟันเทียมช่วยทดแทนการสูญเสียฟันธรรมชาติได้เป็นอย่างดี อาการเคืองเล็กน้อยเป็นเรื่องปกติของการใส่รากฟันเทียม แต่อาการเจ็บรุนแรงร่วมกับอาการอื่นๆ อาจหมายถึงความผิดปกติบางอย่าง ควรไปพบทันตแพทย์และดูข้อมูลต่อไปนี้เพื่อให้ทราบว่าอาการเจ็บรากฟันเทียมของคุณเป็นสัญญาณแสดงที่ร้ายแรงหรือไม่

รากฟันเทียมคืออะไร

ใส่รากฟันเทียม คือการผ่าตัดใส่รากที่เป็นโลหะเข้าไปในกระดูกขากรรไกร รากนี้เป็นส่วนรองรับส่วนที่ทันตแพทย์จะต่อขึ้นมาทดแทนฟันที่ถอนไป เช่น ครอบฟัน คลินิกมาโยอธิบายไว้ว่า รากฟันเทียมเป็นทางเลือกทดแทนฟันที่มีประสิทธิภาพเพราะยึดติดกับกระดูกขากรรไกรและไม่ผุเหมือนฟันธรรมชาติ

การผ่าตัดรากฟันเทียมมีหลายขั้นตอน ทันตแพทย์จะเว้นช่วงเวลาให้แผลหายในแต่ละขั้นตอน ขั้นตอนแรกคือ การถอนฟันที่เสียหายออกและเตรียมความพร้อมของกระดูกขากรรไกรบริเวณนั้น เมื่อแผลหายดี ทันตแพทย์จะผ่าตัดใส่รากฟันเทียมส่วนที่เป็นโลหะ กระดูกจะใช้เวลานานหลายเดือนกว่าจะหายดี หลังจากนั้นทันตแพทย์จะต่อส่วนตัวฟันขึ้นมาจากรากฟันเทียมเพื่อใส่ครอบฟันต่อไป

อาการเจ็บมากแค่ไหนที่ยังถือว่าปกติ

การใส่รากฟันเทียมตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการต้องใช้เวลานานหลายเดือน แต่ไม่ว่าคุณจะใส่รากฟันเทียมแบบผ่าตัดครั้งเดียวหรือหลายครั้ง เป็นเรื่องปกติที่จะรู้สึกเจ็บเล็กน้อย คลินิกมาโยระบุว่า พบอาการระคายเคือง รวมถึงอาการอื่นๆ เช่น

  • ใบหน้าและเหงือกบวม
  • ผิวหน้ามีรอยช้ำและเหงือกเป็นแผล
  • ความเจ็บปวด
  • เลือดซึมเล็กน้อย

ทันตแพทย์อาจให้ยาแก้ปวดเพื่อช่วยบรรเทาอาการ

สัญญาณเตือนว่าอาจมีภาวะแทรกซ้อน

หากอาการแย่ลงหลังใส่รากฟันเทียมหลายวันแล้ว ให้ไปพบทันตแพทย์ รายงานผู้ป่วยในวารสารสมาคมทันตแพทย์อเมริกัน (JADA) อธิบายว่า อาการปวดอย่างต่อเนื่องหลังใส่รากฟันเทียมอาจเกิดจากรากฟันเทียมสัมผัสกับเส้นประสาทที่อยู่ใต้ฟัน อาการของปัญหานี้ยังรวมถึง อาการปวดเมื่อสัมผัสโดนบริเวณรอบรากเทียมหรืออาการชาริมฝีปาก

รายงานผู้ป่วยใน JADA กล่าวว่า ผู้หญิงและผู้ป่วยอายุน้อยมีแนวโน้มจะเสี่ยงต่อเส้นประสาทกระทบกระเทือนหลังใส่รากฟันเทียมได้มากกว่า ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ที่มีอาการปวดก่อนใส่รากฟันเทียม มีอาการกระวนกระวายหรือวิตกกังวล ก็มีโอกาสเกิดเส้นประสาทบาดเจ็บได้มากกว่า โครงสร้างร่างกายก็นับเป็นปัจจัยเสี่ยงข้อหนึ่ง ดังนั้นทันตแพทย์จึงต้องประเมินสภาวะของคุณก่อนผ่าตัด

ภาวะแทรกซ้อนของรากฟันเทียมที่พบได้อีกอย่างหนึ่งคือ การอักเสบรอบรากฟันเทียม บทความในวารสารวิทยาศาสตร์การแพทย์ทางคลินิกชี้ว่า ภาวะเช่นนี้คือการอักเสบเรื้อรังบริเวณรากฟันเทียมเนื่องจากมีแบคทีเรียสะสมรอบเหงือก

สมาคมปริทันตวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกาอธิบายอาการที่พบเมื่อมีการอักเสบรอบรากฟันเทียมดังนี้

  • อาการปวด เหงือกแดงหรือระบม
  • แปรงฟันแล้วมีเลือดซึม

รวมถึงการสูบบุหรี่และโรคเบาหวานก็เพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะดังกล่าวได้ หากไม่ได้รักษา การอักเสบรอบรากฟันเทียมอาจทำให้เหงือกและกระดูกถูกทำลาย

การรักษาภาวะแทรกซ้อนของรากฟันเทียม

หากคุณมีอาการปวดเส้นประสาทอย่างรุนแรงทันทีที่ใส่รากฟันเทียม ให้แจ้งทันตแพทย์เพื่อหาสาเหตุ การศึกษาในวารสารและการวิจัยศัลยกรรมช่องปากและใบหน้าชี้ว่า การรักษาเพื่อแก้ไขปัญหาจะมีโอกาสสำเร็จสูงสุดด้วยดีถ้าพบทันตแพทย์ภายใน 36 ชั่วโมง เมื่อทันตแพทย์เห็นว่าอาการปวดเกิดจากการกระทบกระเทือนเส้นประสาท รายงานผู้ป่วยของ JADA แนะนำให้ทันตแพทย์เอารากฟันเทียมออกและให้ยาสเตียรอยด์เพื่อลดอักเสบ จากนั้นปล่อยให้เส้นประสาทค่อยๆ หายดี การรับประทานยาต้านอักเสบความเข้มข้นสูงและยาแก้ปวดจะช่วยบรรเทาอาการเหล่านี้ได้

การอักเสบรอบรากฟันเทียมป้องกันได้ด้วยสุขภาพช่องปากที่ดีและพบทันตแพทย์เพื่อทำความสะอาดบริเวณรากฟันเทียมอย่างสม่ำเสมอ บทความในวารสารสมาคมทันตแพทย์แห่งประเทศแคนาดากล่าวด้วยว่า ในกรณีที่ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงอาจต้องผ่าตัดนำรากฟันเทียมออกและเปลี่ยนวิธีทดแทนฟันที่สูญเสียไปด้วยวิธีอื่น

รากฟันเทียมถือเป็นทางเลือกเพื่อทดแทนฟันได้อย่างมีประสิทธิภาพดีในระยะยาว แต่ก็มีความเสี่ยงอยู่บ้าง เพื่อความสำเร็จในการรักษาและให้รากฟันเทียมอยู่ได้ยาวนาน คุณต้องหมั่นทำความสะอาดช่องปากเป็นประจำและพบทันตแพทย์ตามที่ได้รับคำแนะนำ หากมีอาการปวดอย่างรุนแรงหรือบวมบริเวณรากฟันเทียม ให้ไปพบทันตแพทย์ของคุณทันที

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจและให้ความรู้ในเรื่องสุขภาพช่องปากทั่วไป ไม่ได้ใช้เพื่อแทนคำแนะนำ การวินิจฉัย หรือการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรม หากคุณมีคำถามเกี่ยวกับอาการหรือการรักษาทางการแพทย์ โปรดขอคำแนะนำจากทันตแพทย์หรือผู้ให้บริการด้านสุขภาพที่มีคุณสมบัติเหมาะสม