สาเหตุของการปวดฟัน - คอลเกต

สาเหตุที่เป็นไปได้ของการปวดฟัน: การปวดฟันอาจไม่ได้เกิดจากปัญหาฟันผุเสมอไป

คุณเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพช่องปากของคุณเป็นอย่างมาก คุณไม่เคยพลาดการตรวจฟันทุก 2 ปี คุณแปรงฟันวันละสองครั้ง และระมัดระวังเสมอเมื่อต้องรับประทานขนมหวานและอาหารแปรรูป แม้ว่ากิจวัตรการดูแลช่องปากของคุณควรได้รับคะแนน A+ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะไม่มีวันเจอกับอาการปวดฟัน ปัญหาฟันผุมักเป็นสาเหตุของการปวดฟันของคุณมากที่สุด แต่ก็มีสาเหตุอื่นๆ เช่นกัน มีตั้งแต่การบดฟันของคุณไปจนถึงอาการไซนัสอักเสบ ลองมาดูอาการปวดฟันประเภทต่างๆ กันดีกว่า สาเหตุอื่นที่เป็นไปได้ นอกเหนือจากปัญหาฟันผุ และเหตุใดการไปพบผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมเพื่อขอคำแนะนำเมื่ออาการปวดฟันของคุณกินเวลานานกว่าหนึ่งหรือสองวันจึงเป็นเรื่องสำคัญ

การเสียวฟัน

ตัวอย่างเช่น หากคุณมีอาการเจ็บแปลบเมื่อรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ร้อนจัดหรือเย็นจัด ก็อาจเป็นไปได้ว่าคุณมีอาการฟันผุ แต่ก็อาจเป็นสัญญาณว่าคุณมี อาการเสียวฟัน ด้วยเช่นกัน อาการเสียวฟันเกิดขึ้นเมื่อชั้นในของฟันที่เรียกว่าเนื้อฟันมีอาการเผยออก อาการปวดฟันประเภทนี้เกิดขึ้นได้แม้ว่าดูภายนอกแล้วจะไม่มีฟันผุเลยก็ตาม เนื้อฟันมักจะเผยออกเมื่อมีการสึกหรอของเคลือบฟันหรือเมื่อเหงือกร่น อาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นเนื่องจากการแปรงฟันที่รุนแรงมากเกินไป การบาดเจ็บ หรือสาเหตุอื่นๆ

อาการปวดฟันบางชนิดรุนแรงมาก

หากคุณมีอาการเจ็บแปลบที่ฟันเมื่อคุณกัดอาหาร สาเหตุอาจเกิดมาจากฟันร้าวได้ หากคุณมีอาการปวดฟันตุบๆ อย่างต่อเนื่อง คุณอาจเป็นฝีหรือมีอาการอักเสบในฟัน คุณควรรีบไปพบผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมของคุณเกี่ยวกับปัญหานี้โดยเร็วที่สุด เนื่องจากว่าหากฟันของคุณมีฝี การติดเชื้อมีโอกาสที่จะแพร่กระจายไปที่ปากหรือคอของคุณได้

อาการปวดฟันอาจไม่ได้มีสาเหตุมาจากฟันของคุณก็เป็นได้

หากคุณยังคงมีอาการปวดฟันอยู่โดยที่ไม่มีสัญญาณของปัญหาฟันผุเลย ก็อาจมีสาเหตุอื่นๆ ที่คุณควรต้องตรวจดู ตัวอย่างเช่น ไซนัสอักเสบ ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการปวดฟันที่พบได้น้อย แต่มีนัยสำคัญ หากจุดที่มีอาการปวดฟันคือบริเวณฟันบนทั้งสองข้างของคุณเท่านั้น ไซนัสอักเสบอาจเป็นตัวการได้ อาการปวดฟันประเภทนี้มักมาพร้อมกับอาการคัดจมูกและอาการนุ่มนิ่มบริเวณโพรงไซนัสของคุณ หรือมาภายหลังก็ได้ หากคุณสงสัยว่านี่เป็นสาเหตุของอาการปวดฟันของคุณ คุณอาจต้องรีบไปพบผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์เพื่อปรึกษาเรื่องการป้องกันและการรักษา

หากว่าคุณรู้สึกปวดที่กรามมากกว่าการปวดที่ฟันซี่ใดซี่หนึ่ง นั่นอาจมีสาเหตุมาจาก ความผิดปกติของข้อต่อขากรรไกร คุณอาจมีความผิดปกตินี้ เนื่องมาจากมีการบาดเจ็บโดยตรง หรือมีอาการบาดเจ็บที่กราม การบดฟัน (การนอนกัดฟัน) หรือมีโรคข้ออักเสบ หรือโรคมะเร็งที่ส่งผลต่อกรามของคุณ หากคุณยังมีฟันคุดอยู่ ฟันกรามที่เป็นฟันคุดอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้คุณปวดกรามได้ ฟันกรามของคุณจะกลายเป็นฟันคุดเมื่อไม่มีที่ว่างในบริเวณด้านหลังของปากเพื่อให้ฟันกรามโผล่ออกมาจากเหงือกได้อย่างเหมาะสม

ไปพบผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมของคุณเพื่อตรวจให้แน่ใจ

แม้ว่าอาการปวดฟันของคุณอาจเป็นความรู้สึกที่น่ารำคาญมากกว่าอาการเจ็บแปลบรุนแรง แต่มันก็คุ้มค่าที่คุณจะสละเวลาเพื่อหาสาเหตุของความน่ารำคาญในปากของคุณ อาการปวดเป็นพักๆ อาจดูเหมือนเป็นเพียงความน่ารำคาญและไม่คุ้มค่าที่จะโทรไปที่คลินิกทันตกรรมของคุณในทันที แต่การรอจนปัญหาย่ำแย่ลงก็ไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุดเช่นกัน ไม่ว่าอาการปวดฟันของคุณจะเป็นแบบใดและรุนแรงระดับใดก็ตาม ขอแนะนำให้รีบโทรหาผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมเพื่อนัดตรวจโดยเร็ว

ตามรายงานของ มาโยคลินิก มีเหตุผลสำคัญอย่างยิ่งประการหนึ่งที่คุณจำเป็นต้องพบผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมของคุณเกี่ยวกับอาการปวดฟันโดยเร็ว งานวิจัยใหม่ระบุสาเหตุของความกังวลเกี่ยวกับการใช้ยาบรรเทาอาการปวดฟันบางชนิด เช่น Benzocaine ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่พบในเจลบรรเทาอาการปวดฟันหลายชนิด มีความเชื่อมโยงกับโรคที่หายาก แต่บางครั้งก็เป็นโรคที่ทำให้เสียชีวิตได้ที่เรียกว่า Methemoglobinemia ผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมของคุณจะสามารถช่วยพิจารณาได้ว่ายาที่มี Benzocaine นั้นเหมาะสมกับสถานการณ์ของคุณหรือไม่ และคุณควรใช้ปริมาณมากน้อยเพียงใดจึงจะปลอดภัย

สาเหตุของอาการปวดฟันมักไม่ชัดเจนเสมอไป แต่การวินิจฉัยจากผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมที่เป็นข้อสรุปเกี่ยวกับสาเหตุของอาการปวดฟันของคุณจะช่วยให้คุณสามารถลดปัญหาและช่วยรักษาอาการปวดฟันได้ แม้ว่าคุณอาจจะไม่ได้อยากค้นหาสาเหตุของอาการปวดฟันโดยไม่มีอาการฟันผุ แต่ก็เป็นการดีที่คุณควรใส่ใจจริงจัง เพื่อสุขภาพช่องปากของคุณเอง ในขณะที่คุณรอพบผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมของคุณ คุณสามารถสำรวจเคล็ดลับทำได้ที่บ้านเพื่อ จัดการกับอาการปวดฟัน และปฏิบัติตามขั้นตอนการดูแลช่องปากที่ดีเยี่ยมของคุณต่อไป!

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจและให้ความรู้ในเรื่องสุขภาพช่องปากทั่วไป ไม่ได้ใช้เพื่อแทนคำแนะนำ การวินิจฉัย หรือการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรม หากคุณมีคำถามเกี่ยวกับอาการหรือการรักษาทางการแพทย์ โปรดขอคำแนะนำจากทันตแพทย์หรือผู้ให้บริการด้านสุขภาพที่มีคุณสมบัติเหมาะสม