ข้อควรรู้เกี่ยวกับการถอนฟันคุด - คอลเกต
Badge field

การถอนฟันคุด

Published date field

สำหรับคนหนุ่มสาวจำนวนมากแล้ว "การมีฟันคุด" เป็นการเปลี่ยนผ่านที่เข้ามาแล้วจากไปโดยไม่ทันรู้ตัว แต่สำหรับบางคนแล้ว การงอกของฟันคุดอาจกลายเป็นปัญหาได้ หากฟันคุดทำให้เกิดฟันซ้อนในช่องปาก ฟันงอกขึ้นมาผิดตำแหน่ง หรือดันฟันอื่น การถอนฟันคุดเป็นขั้นตอนการผ่าตัดที่ดำเนินการโดยทันตแพทย์ หรือศัลยแพทย์ช่องปากเพื่อนำฟันคุด (ฟันกรามตำแหน่งที่สาม) ของคุณออกหนึ่งซี่หรือมากกว่านั้น พร้อมกับป้องกันภาวะแทรกซ้อน ถึงแม้ว่านี่จะเป็นขั้นตอนที่ซับซ้อนกว่าการอุดฟันหรือจัดฟัน แต่การผ่าฟันคุดนั้นก็เป็นการเปลี่ยนแปลงทางทันตกรรมที่พบได้บ่อย และช่วยทำให้แน่ใจว่าจะมีรอยยิ้มสดใสสุขภาพดีได้

แล้วจะรู้ได้ยังไงว่าต้องถอนฟันคุด

การไปพบทันตแพทย์ปีละสองครั้งเพื่อตรวจสุขภาพช่องปากเป็นประจำจะช่วยให้ทันตแพทย์สามารถติดตามพัฒนาการของฟันได้ จากข้อมูลของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลกล่าวว่า ในขณะที่ฟันคุดของคุณกำลังงอกขึ้นมา ทันตแพทย์จะสังเกตุสิ่งต่อไปนี้

  • ตำแหน่งที่งอก: หากฟันคุดงอกขึ้นผิดที่ อาหารอาจเข้าไปติด และทำให้แบคทีเรียเจริญเติบโตได้
  • การดูแลสุขภาพช่องปาก: การงอกที่ผิดปกติอาจทำให้การขจัดคราบจุลินทรีย์ระหว่างฟันกรามใหม่เป็นไปได้ยาก
  • การติดเชื้อ: ฟันคุดที่งอกขึ้นมาบางส่วนอาจสร้างพื้นที่ให้แบคทีเรียเข้าไปในเหงือกได้ ซึ่งทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ
  • การเบียด: หากมีที่ว่างไม่พอสำหรับฟันกรามใหม่ นั่นก็อาจทำให้ฟันข้างเคียงเคลื่อนได้
  • ฟันคุด: ฟันคุดอาจสร้างถุงน้ำขึ้นมา ซึ่งอาจทำให้รากฟันหรือกระดูกใกล้เคียงเป็นอันตรายได้

นอกจากนี้ การถอนฟันคุดตั้งแต่ตอนเด็กยังอาจส่งผลดีต่อสุขภาพในระยะยาวอีกด้วย เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่าผู้ใหญ่

ฉันต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้างเพื่อถอนฟันคุด

ทันตแพทย์อาจดำเนินการตามขั้นตอนของคลินิก หรือแนะนำให้คุณไปปรึกษากับศัลยแพทย์ช่องปาก ซึ่งทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของคุณ เมื่อคุณพบผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมแล้ว คุณอาจจะมีคำถามต่อไปนี้

  • จะต้องถอนฟันคุดทั้งหมดกี่ซี่
  • จะให้ยาชาประเภทใด
  • ขั้นตอนมีความซับซ้อนหรือละเอียดแค่ไหน
  • ขั้นตอนใช้เวลาโดยประมาณเท่าไร
  • จะเกิดอันตรายกับฟันรอบข้างหรือไม่
  • มีแนวโน้มที่เส้นประสาทจะเสียหายมากน้อยแค่ไหน
  • จะต้องทำการรักษาทางทันตกรรมอื่นๆ ในภายหลังหรือไม่
  • ต้องใช้เวลาฟื้นตัวนานเท่าใด และจะกลับไปทำกิจกรรมตามปกติได้เมื่อไร

การถอนฟันคุดมีความเสี่ยงอะไรบ้าง

แม้ว่าการถอนฟันคุดส่วนใหญ่จะไม่ได้ส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในระยะยาว แต่ก็อาจเกิดปัญหาอย่างกระดูกเบ้าฟันอักเสบหลังขั้นตอนการถอนได้ กระดูกเบ้าฟันอักเสบคือภาวะที่ลิ่มเลือดหลังการผ่าตัดหลุดออกจากแผลผ่าตัด (เบ้าฟัน) และเผยให้เห็นกระดูกด้านล่าง กระดูกเบ้าฟันอักเสบอาจทำให้รู้สึกเจ็บปวด และทำให้ขั้นตอนการรักษาช้าลง หากคุณกังวลเรื่องความเสี่ยงขณะถอนฟันคุด โปรดไปปรึกษาทันตแพทย์หรือศัลยแพทย์ช่องปากเกี่ยวกับข้อกังวลดังกล่าว

จะเตรียมตัวอะไรได้บ้างก่อนถึงขั้นตอนการถอนฟันคุด

ก่อนที่จะถึงวันผ่าตัด ให้เตรียมคนที่จะขับรถรับส่งคุณจากการผ่าตัด และปฏิบัติตามข้อจำกัดเรื่องอาหารที่ทันตแพทย์แนะนำ หากได้รับใบสั่งยาหรือยาที่ซื้อได้ตามร้านค้าทั่วไป ให้ตรวจสอบดูว่า ยาเหล่านั้นรับประทานก่อนการผ่าตัดได้หรือไม่ การทราบคำตอบสำหรับคำถามเหล่านี้จะช่วยให้การผ่าตัด และการพักฟื้นเป็นไปอย่างราบรื่น

ใช้ยาชาประเภทใด

มียาชาอยู่สามประเภทซึ่งใช้ตามกระบวนการเฉพาะควบคู่ไปกับระดับความสบายของคุณ โดยคุณจะได้รับยาชาด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งจากสามวิธีนี้

การให้ยาระงับความรู้สึกเฉพาะที่: จะให้ยาโดยการฉีดเข้าไปตรงบริเวณที่จะถอนฟันหลังการใช้ยาชา คุณจะรู้สึกตัวในขั้นตอนนี้ และแม้ว่าจะรู้สึกถึงแรงกดและการเคลื่อนไหวอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ควรรู้สึกเจ็บปวดใดๆ

การให้ยาระงับความรู้สึกเพื่อกดประสาท: จะให้ยาทางหลอดเลือดดำ (IV) ประเภทการกดประสาทนี้จะช่วยให้คุณหลับตลอดขั้นตอน ดังนั้น คุณจึงไม่รู้สึกเจ็บปวดระหว่างการผ่าตัด โดยศัลยแพทย์ของคุณจะทำให้เหงือกของคุณชาอีกด้วย

การวางยาสลบ: หากคุณกลัวเข็ม คุณสามารถรับการวางยาสลบได้ผ่านวิธีการสูดดม นี่จะคล้ายคลึงกับการกดประสาท ซึ่งคุณจะหลับไปในตลอดขั้นตอน โดยจะมีทีมศัลยแพทย์คอยตรวจสอบสัญญาณชีพจรของคุณ

ผ่าฟันคุดออกมาได้อย่างไร

ทันตแพทย์หรือศัลยแพทย์ช่องปากจะกรีดบริเวณขอบเหงือกให้ถึงฟัน และกระดูกที่อยู่บริเวณข้างใต้ จากนั้นนำกระดูกที่ปิดกั้นการเข้าถึงฟันออกก่อน แล้วแบ่งฟันที่คุดออกเป็นส่วนๆ เพื่อง่ายต่อการถอนออก

หลังจากฟันคุดถูกถอนแล้ว ทันตแพทย์จะกำจัดเศษที่เหลือออกให้เรียบร้อย แล้วจึงทำการเย็บแผล โดยทันตแพทย์จะใช้ผ้าก๊อซอุดไว้เหนือบริเวณที่ถอนฟันออก เพื่อให้เลือดแข็งตัว และไม่ให้ไหลออกมามากเกินไป

จะเกิดอะไรขึ้นหลังขั้นตอนการถอนฟันคุด

เมื่อการผ่าตัดเสร็จสิ้น คุณจะถูกนำตัวไปยังห้องพักฟื้นเพื่อรอให้ยาระงับความรู้สึกหมดฤทธิ์ ซึ่งหากคุณเลือกวิธีการฉีดยาชาเฉพาะที่ คุณอาจจะได้ฟื้นตัวบนเก้าอี้ตัวเดิมกับที่ถอนฟันคุด

สิ่งที่ต้องทำ คือ

  • ปฏิบัติตามคำแนะนำการดูแลหลังการรักษาทุกข้อ
  • เปลี่ยนผ้าก๊อซทุกๆ 30 นาทีตามความจำเป็น หยุดใช้ผ้าก๊อซเมื่อเลือดหยุดไหล ซึ่งโดยปกติจะใช้เวลา 3-4 ชั่วโมง และอย่าทิ้งผ้าก๊อซไว้ข้ามคืน ควรกระตุ้นให้ผู้ป่วยที่นอนหลับให้ตรวจสอบผ้าก๊อซทุกๆ 20 นาที
  • ดื่มน้ำปริมาณมากโดยไม่ใช้หลอด
  • พักผ่อนในช่วงเวลาที่เหลือของวัน คุณสามารถกลับไปทำกิจวัตรตามปกติได้ในวันถัดไป แต่ต้องพยายามทำกิจกรรมที่ต้องใช้กำลังให้น้อยที่สุดไปอีกประมาณหนึ่งสัปดาห์ ในระหว่างที่แผลผ่าตัดของคุณสมานตัว
  • รับประทานอาหารอ่อนๆ เป็นเวลาหนึ่งถึงสองวันหลังการผ่าตัดเพื่อไม่ให้เกิดอาการระคายเคืองในบริเวณดังกล่าว
  • รับประทานยา ที่มีอะเซตามิโนเฟน หากคุณรู้สึกปวดหลังการผ่าตัด ถ้ายังคงปวดอยู่ ให้ติดต่อทันตแพทย์หรือศัลยแพทย์ของคุณ แล้วพวกเขาจึงจะสามารถจ่ายยาบางตัวที่ได้ผลดีกว่านั้นได้ นอกจากนี้ การใช้ถุงเก็บความเย็น ประคบแก้มก็สามารถช่วยบรรเทาอาการปวดเล็กน้อยได้เช่นกัน
  • ค่อยๆ บ้วนปากด้วยน้ำเกลืออุ่น (น้ำ 8 ออนซ์ต่อเกลือ 1/2 ช้อนชา) หลังอาหารทุกมื้อ และทุกๆ สองชั่วโมงเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์
  • กลับมาแปรงฟันอีกครั้งหลังจากหนึ่งหรือสองวันแรก แต่ให้ระวังบริเวณใกล้ๆ กับที่ผ่าตัด

สิ่งที่ไม่ควรทำ คือ

  • ดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล คาเฟอีน น้ำอัดลม หรือแอลกอฮอล์ในช่วงสองสามวันแรก
  • ใช้หลอด เพราะการดูดอาจทำให้ลิ่มเลือดตรงแผลหลุดออกมาโดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งทำให้การรักษาช้าลง
  • กินอาหารที่เคี้ยวยาก เผ็ดจนเกินไป หรือติดซอกฟันได้
  • บ้วนน้ำลาย เพราะอาจทำให้ลิ่มเลือดหลุดออกได้ อาการบวมและช้ำหลังขั้นตอนการผ่าตัดถือเป็นเรื่องปกติ แต่อาการเหล่านี้ควรดีขึ้นภายในสองถึงสามวัน หลังจากประคบเย็น
  • แปรง บ้วน หรือใช้น้ำยาบ้วนปากหลังถอนฟันคุดต่อเนื่องจนถึงหนึ่งสัปดาห์หลังการผ่าตัด
  • ไม่สูบบุหรี่ หรือเคี้ยวผลิตภัณฑ์ยาสูบ การใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบใดๆ หลังการผ่าตัดในช่องปากจะชะลอการรักษาอย่างมาก และเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนหรือการติดเชื้อใดๆ ซึ่งทางที่ดีควรงดสูบบุหรี่ก่อนการถอนฟันด้วย นอกจากนี้ นิโคตินและสารเคมีที่เกี่ยวข้องกับยาสูบอื่นๆ ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดปัญหากระดูกเบ้าฟันอักเสบ หลังทำหัตถการได้อีกด้วย
  • หากคุณเย็บปิดแผลด้วยไหมละลาย ไหมนั้นควรจะละลายหายไปภายในสองสามสัปดาห์ แต่หากจำเป็นต้องตัดไหม ทันตแพทย์ของคุณก็มักจะทำการนัดหมายให้คุณไว้แล้ว

ควรติดต่อทันตแพทย์หรือศัลยแพทย์ช่องปากเมื่อใด

ให้ติดต่อทันตแพทย์หรือศัลยแพทย์ช่องปากในทันที หากคุณพบสัญญาณหรืออาการต่อไปนี้หลังการผ่าตัด

  • อาการบวมที่แย่ลงหลังจากผ่านไปหลายวัน
  • มีไข้
  • ยาแก้ปวดตามใบสั่งยาใช้กับอาการปวดไม่ได้ผล
  • การบ้วนปากด้วยน้ำเกลือไม่ได้ขจัดสิ่งสกปรก หรือรสชาติที่ค้างอยู่ในปากของคุณออกไป
  • เบ้าฟันมีหนองที่สะสมอยู่ภายใน หรือไหลซึมออกมาจากแผล
  • สูญเสียความรู้สึก หรืออาการชาไม่หายไป

โดยปกติแล้ว นี่มักจะใช้เวลาประมาณหนึ่งสัปดาห์ในการกลับมาทำกิจวัตรตามปกติหลังการถอนฟันคุด ซึ่งอีกไม่นาน คุณก็จะยิ้มได้โดยไม่ปวดอีกต่อไป! แต่อย่าลืมไปตรวจสุขภาพฟันเป็นประจำอยู่เสมอ เพื่อที่ทันตแพทย์ของคุณจะสามารถติดตามได้ว่าฟันคุดของคุณงอกขึ้นมาเป็นอย่างไรบ้าง และแม้ว่าการถอนฟันกรามเหล่านี้อาจดูน่ากลัว แต่ขั้นตอนนี้ก็ค่อนข้างเป็นเรื่องปกติ และสามารถสร้างรอยยิ้มให้กับคุณเพื่ออนาคตที่สดใสสุขภาพดีได้

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจและให้ความรู้ในเรื่องสุขภาพช่องปากทั่วไป ไม่ได้ใช้เพื่อแทนคำแนะนำ การวินิจฉัย หรือการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรม หากคุณมีคำถามเกี่ยวกับอาการหรือการรักษาทางการแพทย์ โปรดขอคำแนะนำจากทันตแพทย์หรือผู้ให้บริการด้านสุขภาพที่มีคุณสมบัติเหมาะสม